ข้ามไปเนื้อหา

วัฒนธรรม

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสนาและศิลปะการแสดงออกคือส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมมนุษยชาติ
งานฉลองและพิธีกรรมคือส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมชาวบ้าน

วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมา

วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม

วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

ประเภทของวัฒนธรรม

[แก้]

วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
  • วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี[1]

นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักใช้คำ "วัฒนธรรม" ไปในเชิงของวิสัยสามารถของคนทั่วไปในการบ่งชี้ จัดหมวดหมู่และสื่อถึงประสบการณ์ของตนในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ คนเราใช้วิสัยสามารถดังกล่าวสำหรับบ่งชี้เรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดในหมู่มนุษย์ด้วยกันมานานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวานรวิทยาหรือไพรเมตวิทยาก็ได้บ่งชี้ลักษณะวัฒนธรรมดังกล่าวในวานรหรือไพรเมตซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดมานานแล้วเช่นกัน[2] และโดยนักโบราณคดีจะมุ่งเฉพาะไปที่วัฒนธรรมที่เป็นเรื่องราวเท่านั้น (ซากเรื่องราวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์) ขณะเดียวกัน นักมานุษยวิทยาสังคมก็มองไปที่ปฏิสัมพันธ์ของสังคม สถานภาพและสถาบัน ส่วนนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมก็เน้นที่บรรทัดฐานและคุณค่า

การแบ่งแยกแนวกันนี้ แสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขที่แตกต่างกันที่ขึ้นอยู่กับงานที่ต่างกันของนักมานุษยวิทยา และความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นจุดการวิจัยที่ต้องชัดเจน จึงไม่จำเป็นว่าจะเป็นการสะท้อนถึงทฤษฎีของวัฒนธรรมซึ่งย่อมแตกต่างไปตามเชิงของเรื่องราว เชิงสังคม และเชิงบรรทัดฐาน (norm) รวมทั้ง ไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงการแข่งขันกันเองในระหว่างทฤษฎีต่าง ๆ ของวัฒนธรรม

แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม

[แก้]
ศิลปะอียิปต์โบราณ

คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทย มาจากคำสองคำ คำว่า "วัฒน" จากคำศัพท์ วฑฺฒน" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความเจริญ ส่วนคำว่า "ธรรม" มาจากคำศัพท์ "ธรฺม" ในภาษาสันสกฤต หมายถึงความดี เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงได้คำว่า "วัฒนธรรม" หมายถึงความดีอันจะก่อให้เกิดความงอกงามที่เป็นระเบียบเรียบร้อย[3] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ว่าเป็น "สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ , ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรม พ.ศ. 2485 หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน, ทางวิทยาการ หมายถึงพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่ของตน"[4] แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามไว้ว่า "สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่นวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา" คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทยตามความหมายนี้ใกล้เคียงกับคำว่า "อารยธรรม" (ดู #วัฒนธรรมในเชิงของอารยธรรม)ส่วนคำว่า "culture" ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าวัฒนธรรมนั้น มาจากภาษาละติน คำว่า "cultura" ซึ่งแยกมาจากคำ "colere" ที่แปลว่า การเพาะปลูก[5] ส่วนความหมายทั่วไปในสากล หมายถึงรูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ

นอกจากภาษาอังกฤษ รากศัพท์ของคำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาในยุโรปอื่นก็มักมีความเกี่ยวข้องกับ "การเพาะปลูก" หรือ "การปลูกฝัง" โดยเฉพาะถ้าเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาละติน เช่น culture, cultura และ Kultur ในภาษาฝรั่งเศส สเปน และเยอรมันตามลำดับ ส่วนในภาษาในทวีปอื่นก็อาจมีรากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกเช่นกัน เช่น វប្បធម៌ (วัปปธรรม) ในภาษาเขมร ซึ่งประกอบด้วย "วปฺป" และ "ธรฺม" คำว่า "วปฺป" มาจากภาษาบาลี แปลว่า วัปปะ หรือ การหว่านพืช ส่วน "ธรฺม" มีที่มาดั่งคำว่า "ธรรม" ในภาษาไทย ส่วนในภาษาอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก มีภาษาพม่าและภาษาที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก คือภาษาจีนและภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนเป็นอย่างมาก เช่น ภาษาญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาพม่าคือ ယဉ်ကျေးမှု (หยิ่งเช้หฺมุ้) ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "ความสุภาพอ่อนโยน" "ความมีอารยธรรม" "ความเป็นผู้ดี" "ความเชื่อง" หรือ "ความไม่ดุร้ายป่าเถื่อน" คำนี้มีรากศัพท์คล้ายกับคำในภาษาไทใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่าสูงพอควร คือคำว่า ၾိင်ႈထုင်း (ฝิ้งทุง) หรือ ၾိင်ႈငႄႈ (ฝิ้งแหง้) อันมีรากศัพท์เกี่ยวข้องกับ "ความเชื่อง" หรือ "ความไม่ป่าเถื่อน" เช่นเดียวกับคำในภาษาพม่า ส่วนในภาษาจีนและภาษาในเขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกดังกล่าว คำว่า "วัฒนธรรม" มีรากศัพท์เกี่ยวกับ "หนังสือ" หรือ "ลายลักอักษร" คือ 文化 (จีนกลางอ่านว่า เหฺวินฮฺว่า) ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "เปลี่ยนให้เป็นคนรู้หนังสือ" โดยในสมัยภาษาจีนยุคกลางคำนี้แปลว่า "แนวทางอบรมสั่งสอนโดยการใช้ศีลธรรม วรรณกรรม และดนตรี"[6] การใช้คำนี้เป็นคำแปลของคำว่า culture เกิดขึ้นจากการประดิษฐ์คำจีนในญี่ปุ่น[7] โดยญี่ปุ่นได้ขยายความหมายเดิมที่ใช้ในสมัยจีนยุคกลางให้ครอบคลุมถึงความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" ในโลกตะวันตก

มีการกล่าวถึงวัฒนธรรมว่าเป็น "หนทางทั้งหมดแห่งการดำเนินชีวิต" ซึ่งรวมถึงกฎกติกาแห่งกิริยามรรยาท การแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรม ปทัสถานแห่งพฤติกรรม เช่น กฎหมายและศีลธรรม ระบบของความเชื่อรวมทั้งศิลปะ เช่น ศิลปะการทำอาหาร[8]

การนิยามที่หลากหลายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของทฤษฎีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือทำให้เกิดเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินกิจกรรมของมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2414 เอ็ดเวิร์ด เบอร์เนต ไทเลอร์ ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมในมุมมองด้านมานุษยวิทยาสังคม ไว้ว่า "วัฒนธรรม หรือ อารยธรรม หากมองในเชิงชาติพันธุ์วรรณนาอย่างกว้าง ๆ ก็คือ ความทับซ้อนกันระหว่างความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ประเพณีและสมรรถนะอื่นที่มนุษย์ต้องการแสวงหาเพื่อการเป็นสมาชิกของสังคม"[9]

เมื่อปี พ.ศ. 2543 ยูเนสโก ได้พรรณนาถึงวัฒนธรรมไว้ว่า "...วัฒนธรรมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นชุดที่เด่นชัดของจิตวิญญาณ เรื่องราว สติปัญญาและรูปโฉมทางอารมณ์ของสังคม หรือกลุ่มสังคม ซึ่งได้หลอมรวมเพิ่มเติมจากศิลปะ วรรณคดี การดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน ระบบคุณค่า ประเพณีและความเชื่อ"[10]

ถึงแม้ว่าการนิยามความหมายคำว่า "วัฒนธรรม" ของทั้งสองจะครอบคลุมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคำว่า "วัฒนธรรม" ที่มีการใช้กันอยู่ ในปี พ.ศ. 2495 อัลเฟรด ครูเบอร์ และไคลด์ คลักคอห์น ได้รวบรวมนิยามของคำ "วัฒนธรรม" ได้ถึง 164 ความหมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง "วัฒนธรรม: การทบทวนเชิงวิกฤติว่าด้วยมโนทัศน์และนิยาม" (Culture: A Critical Review of Concepts and Definitions)[11]

นิยามดังกล่าวนี้ และอีกหลายนิยามช่วยทำให้เกิดองค์ประกอบของรายการวัฒนธรรม เช่น กฎหมาย เครื่องมือสมัยหิน การแต่งงาน ฯลฯ แต่ละอย่างนี้มีการเกิดและมีความไปเป็นชุดของมันเอง ซึ่งจะเกิดเป็นช่วงเวลาในชุดหนึ่งที่หลอมประสานกันแล้วก็ผ่านออกไปเป็นชุดอย่างอื่น ในขณะที่ยังเป็นชุด มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เราสามารถพรรณนาได้ถึงวิวัฒนาการของกฎหมาย เครื่องมือฯ และการแต่งงานดังกล่าวได้

ดังนั้น โดยนิยามแล้ว วัฒนธรรมก็คือชุดของเรื่องราวทางวัฒนธรรม นั่นเอง นักมานุษยวิทยาเลสลี ไวท์ ตั้งคำถามไว้ว่า "เรื่องราวเหล่านั้นคืออะไรกันแน่?" เป็นเรื่องราวทางกายภาพหรือ? หรือเป็นเรื่องราวทางจิตใจ ทั้งสองอย่าง? หรือเป็นอุปลักษณ์? ในหนังสือเรื่อง "วิทยาศาสตร์แห่งวัฒนธรรม" (Science Of Culture 2492) ไวท์สรุปว่ามันคือเรื่องราว "sui generis" นั่นคือ การเป็นชนิดของมันเอง ในการนิยามคำว่า ชนิด ไวท์มุ่งไปที่ "การสร้างสัญลักษณ์ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีผู้ใดตระหนักถึงมาก่อน ซึ่งเขาเรียกว่า "ซิมโบเลท" (the symbolate) คือ เรื่องราวที่เกิดจากการกระทำที่สร้างสัญลักษณ์ ดังนั้น ไวท์จึงนิยามว่า "วัฒนธรรม คือ ซิมโบเลทในเชิงของบริบทนอกกาย"[12] คำสำคัญของนิยามนี้จึงได้แก่การค้นพบซิมโบเลทนั่นเอง

ในการใฝ่หานิยามที่ใช้การได้ นักทฤษฎีสังคมชื่อ ปีเตอร์ วอลเตอร์ กล่าวง่าย ๆ ว่า วัฒนธรรมเป็น "การแลกเปลี่ยนเค้าร่างของประสบการณ์"[13] ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ ศาสนาและอื่น ๆ รวมทั้ง นิยามก่อน ๆ

วัฒนธรรมในเชิงของอารยธรรม

[แก้]

ในปัจจุบันคนจำนวนมากมีความคิดทางวัฒนธรรมที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมของยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ประมาณระหว่าง พ.ศ. 2244พ.ศ. 2373) ซึ่งประมาณได้ว่าตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัฒนธรรมที่พัฒนาในช่วงระหว่างนี้เน้นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในยุโรปเองและในระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศอาณานิคมทั่วโลกของตน ใช้ตัวบ่งชี้วัฒนธรรมด้วย "อารยธรรม" แยกความเปรียบต่างของวัฒนธรรมด้วย "ธรรมชาติ" และใช้แนวคิดนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศหรือชาติใดมีอารยธรรมมากกว่าชาติใด บุคคลใดมีวัฒนธรรมมากน้อยกว่ากัน ดังนั้น จึงมีนักทฤษฎีวัฒนธรรมบางคนพยามยามที่แยกวัฒนธรรมมวลชน หรือวัฒนธรรมนิยมออกจากการนิยามของวัฒนธรรม นักทฤษฎี เช่น แมททิว อาร์โนลด์ (พ.ศ. 2365 - พ.ศ. 2341) มองว่าวัฒนธรรมเป็นเพียง "ความคิดและการพูดที่ดีที่สุดที่ได้เกิดขึ้นมาบนโลก"[14] อาร์โนลด์ได้แยกแยะให้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมมวลชนกับความวุ่นวายในสังคมและอนาธิปไตย ในแนวนี้วัฒนธรรมจะเชื่อมโยงเป็นอย่างมากกับการงอกงามของวัฒนธรรม นั่นคือ การปรุงแต่งที่ก้าวไปข้างหน้าของพฤติกรรมมนุษย์ อาร์โนลด์เน้นการใช้คำนี้อย่างคงเส้นคงวา ว่า "...วัฒนธรรม คือ การไล่ตามหาความสมบูรณ์สุดยอดด้วยการเรียนรู้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รับการคิดและพูดขึ้นในโลก"[14]

ศิลปะของ "วัฒนธรรมขั้นสูง": ภาพเขียนโดย เอ็ดการ์ เดอกาส

ในทางปฏิบัติ วัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมชั้นสูง เช่นพิพิธภัณฑ์ประเทืองปัญญา ศิลปะและดนตรีคลาสสิก และยังเป็นคำที่พรรณนาถึงผู้รู้และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ นี่คือ กิจกรรมที่เรียกว่า "วัฒนธรรมขั้นสูง" เป็นวัฒนธรรมของสังคมกลุ่มชนชั้นกุมอำนาจ[15] ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างกับ "วัฒนธรรมมวลชน" หรือ "วัฒนธรรมประชานิยม"

นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา (พ.ศ. 2344) นักวิจารณ์สังคมเริ่มยอมรับถึงความแตกต่างของ "วัฒนธรรมสูงสุด" และ "วัฒนธรรมต่ำสุด" ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็ได้ย้ำให้เห็นถึงการปรุงแต่งและความละเอียดซับซ้อนว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาที่วิบัติและไม่เป็นธรรมชาติ บดบังและบิดเบือนความเป็นธรรมชาติแท้ของมนุษย์ และในแง่นี้ ดนตรีพื้นบ้าน (ที่แต่งโดยชนชั้นแรงงาน) แสดงออกอย่างเปิดเผยหมดเปลือกถึงวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นจริง และว่าดนตรีคลาสสิกดูเป็นเปลือกผิวเผินและกำลังถดถอยลงในแง่การดำรงชีวิตจริง และก็เช่นเดียวกัน มุมมองนี้ได้พรรณาให้เห็นถึงคนพื้นเมืองในฐานะของ "คนเถื่อนใจธรรม" (Noble savage) ที่ดำรงชีวิตอย่างไร้มลทิน ไม่ประณีตซับซ้อนและไม่วิบัติจากระบบชนชั้นนายทุนของโลกตะวันตก

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สังคมได้ปฏิเสธแนวคิดของ "วัฒนธรรมเชิงเอกภาค" (monadic culture) และสังคมที่ตรงข้ามกับธรรมชาติ พวกเขายอมรับวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูงสุดยอดว่าดีเท่า ๆ กับวัฒนธรรมสุดยอด (รับว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกมีอารยธรรมเท่าเทียมกัน และมองว่าเป็นวัฒนธรรมเหมือนกันแต่เป็นคนละแบบ ดังนั้น นักสังเกตการณ์วัฒนธรรมจึงแยกความแตกต่างของวัฒนธรรมขั้นสูงของคนชั้นสูงกับวัฒนธรรมประชานิยมว่าหมายถึง สินค้าและกิจกรรมที่ผลิตเพื่อวัฒนธรรมและบริโภคโดยมวลชน (เป็นที่น่าสังเกตด้วยเช่นว่าบางคนจำแนกวัฒนธรรมทั้งสูงและต่ำว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (subculture)

วัฒนธรรมในมุมมองของโลก

[แก้]

ในยุคโรแมนติก ผู้รอบรู้ในเยอรมัน โดยเฉพาะผู้ห่วงใยใน "ขบวนการรักชาติ" เช่น ขบวนการรักชาติที่พยายามก่อตั้งประเทศเยอรมันจากรัฐต่าง ๆ ที่ต่างก็มีเจ้าครองนครอยู่แล้ว และกลุ่มผู้รักชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่พยายามต่อต้านจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี พวกเหล่านี้มีส่วนช่วยพัฒนาหัวเรื่องวัฒนธรรมมาสู่ "มุมมองของโลก" มากขึ้น ในกรอบแนวคิดลักษณะนี้ มุมมองโลกที่พุ่งไปสู่การจำแนกลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความชัดเจนขึ้นและไม่ให้ความสำคัญของขนาดกลุ่มชน แม้จะเป็นแนวคิดที่กว้างขึ้นแต่ก็ยังคงเห็นว่ายังการแบ่งความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม "อารยธรรม" และ วัฒนธรรม "ดั้งเดิม" หรือ วัฒนธรรม "ชนเผ่า" อยู่

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ประมาณ พ.ศ. 2420) นักมานุษยวิทยา ได้ยอมรับและปรับวัฒนธรรม ให้มีนิยามที่กว้างขึ้นให้ประยุกต์ได้กับสังคมต่าง ๆ ที่หลากหลายได้มากขึ้น เอาใจใส่ให้ความสนใจกับทฤษฎีของวิวัฒนาการมากขึ้น มีการอนุมาณว่ามนุษย์ทั้งปวงวิวัฒนาการมาเท่าเทียมกัน และมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมจะต้องเป็นผลมาจากวิวัฒนาการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการแสดงถึงความลังเลที่จะใช้วิวัฒนาการทางชีววิทยามาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน ซึ่งเป็นแนวที่เป็นการแสดงรูปแบบหรือส่วนหนึ่งของสังคมเปรียบเทียบกับอีกสังคมโดยรวม และแสดงให้เห็นกระบวนการครอบงำ และกระบวนการต่อต้าน

ในช่วง พ.ศ. 2494พ.ศ. 2503 ได้เริ่มมีการยกเอา "กลุ่มวัฒนธรรมย่อย" ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ใหญ่กว่ามาเป็นหัวข้อการศึกษาโดยนักสังคมวิทยา ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444พ.ศ. 2543) ได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า "วัฒนธรรมบรรษัท" (corporate culture) ที่เด่นชัดเกี่ยวกับบริบทของการจ้างงานในองค์การหรือในที่ทำงานขึ้น

วัฒนธรรมในเชิงสัญลักษณ์

[แก้]
ภาพจิตรกรรมดอกไม้ ผีเสื้อและ ประติมากรรมหินโดย เช็น ฮองซู ศิลปินสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 2141 - พ.ศ. 2195)ชาวจีนยกย่องว่าภาพเขียนจีน คือองค์ประกอบหลักของวัฒนธรรมระดับสูง

ในมุมมองเชิงสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม ผลงานของคลิฟฟอร์ด เกียรซ์ (พ.ศ. 2516) และวิกเตอร์ เทอร์เนอร์ (พ.ศ. 2510) ได้หยิบยกสัญลักษณ์ว่าเป็นทั้งการกระทำของ "นักแสดง" ในสังคมและบริบทที่ทำให้การแสดงนั้นมีความหมาย แอนโทนี พี โคเฮน (พ.ศ. 2528) เขียนถึง "เคลือบเงาสัญลักษณ์" (Symbolic gloss) ว่าเป็นตัวช่วยให้ผู้แสดงทางสังคมสามารถใช้สัญลักษณ์ทั่ว ๆ ไปสื่อและทำความเข้าใจระหว่างกันในขณะที่ยังคงรักษาสัญลักษณ์เหล่านั้นให้คงอยู่กับความสำคัญและความหมายส่วนบุคคลไว้ได้[16] สัญลักษณ์ช่วยจำกัดขอบเขตความคิดทางวัฒนธรรม สมาชิกของวัฒนธรรมต้องพึ่งพิงสัญลักษณ์เมื่อจะต้องวางกรอบความคิดและการแสดงออกทางปัญญาของตน

โดยสรุป สัญลักษณ์ทำให้วัฒนธรรมมีความเป็นไปได้ แพร่หลาย และอ่านได้ง่าย สัญลักษณ์เป็น "สายใยแห่งความมีนัย" (webs of significance) " เป็นตัวทำให้ "ความเป็นปกติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเป็นระบบ" เกิดขึ้นในกลุ่ม ดังตัวอย่างของ วลีที่ใช้มากจนเบื่อหู (Stock phrase หรือ Cliché)[17] ข้างล่างนี้

"หยุดเดี๋ยวนี้ ในนามของกฎหมาย!" - คำพูดที่มาจากบทที่นายอำเภอหรือผู้รักษากฎหมายใช้ในภาพยนตร์คาวบอยอเมริกัน
กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย – อเมริกัน
สันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อย – ฟิลิปปินส์
ประชาชนต้องมาก่อน - ไทย[18]

วัฒนธรรมในเชิงของกลไกสร้างเสถียรภาพ

[แก้]

ทฤษฎีวัฒนธรรมใหม่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ว่าตัววัฒนธรรมเองเป็นผลิตผลของแนวโน้มของเสถียรภาพที่ตกทอดมาจากแรงกดดันของวิวัฒนาการที่มีผลไปถึงความคล้ายของตนเองและยอมรับตนเองในสังคมโดยรวม ที่เรียกว่า "เผ่าชนนิยม" (Tribalism)

วัฒนธรรมและวิวัฒนาการทางจิตวิทยา

[แก้]

นักวิจัยด้าน "จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ" โต้เถียงกันว่า จิต คือหน่วยสะสางระบบของการรับรู้ข้อมูลทางประสาทที่เกิดจากการคัดเลือกทางพันธุกรรมเพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาของบรรพบุรุษนานมาแล้ว นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการมีความเห็นว่า ความหลากหลายของรูปแบบที่วัฒนธรรมของมนุษย์รับไว้นั้นถูกกีดขวางไว้ด้วยกลไกของกระบวนการประมวลข้อมูลที่ฝังอยู่ในพฤติกรรมของเรา[19] ซึ่งรวมถึง

หน่วยมาตรฐานแห่งการรับภาษา
กลไกในการหลีกเลี่ยงการสมสู่กับญาติสนิท
กลไกในการตรวจจับกลโกง
ความพึงใจในการเลือกคู่กับความมีเชาว์ปัญญา
กลไกในการเที่ยวค้นหา
กลไกในการหาพวก
กลไกในการตรวจหาตัวแทน
ความกลัวและกลไกในการปกป้อง (กลไกในการเอาชีวิตรอด)

กลไกเหล่านี้ได้รับการวางให้เป็นทฤษฎีเพือใช้เป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของวัฒนธรรม เพื่อความเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เราจะต้องมีความเข้าใจในเงื่อนไขทางชีววิทยาของความเป็นไปได้เสียก่อน

วัฒนธรรมภายในสังคม

[แก้]

สังคมขนาดใหญ่มักมี วัฒนธรรมย่อย หรือกลุ่มของคนที่มีพฤติกรรมและความเชื่อที่แปลกไปจากสังคมใหญ่โดยรวมของตน วัฒนธรรมย่อยอาจเด่นจากอายุของสมาชิกกลุ่มหรือโดยเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชั้นทางสังคมหรือเพศ คุณลักษณะที่เป็นตัวบ่งบอกลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยอาจเป็น สุนทรียภาพ ศาสนา อาชีพ การเมือง เพศ หรือความสำคัญขององค์ประกอบเหล่านี้

แนวทางที่ใช้ปฏิบัติกับกลุ่มต่างด้าวและวัฒนธรรมของพวกเขามี 4 ทาง ได้แก่

  • เอกวัฒนธรรมนิยม (Monoculturalism) : ในประเทศยุโรปบางประเทศ วัฒนธรรมมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับลัทธิชาตินิยม ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงใช้วิธีดูดกลืนคนต่างด้าว แต่การเพิ่มขึ้นของการย้ายถิ่นฐานในช่วงไม่นานมานี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันไปใช้แนวทาง "อเนกวัฒนธรรมนิยม" บ้างแล้ว
  • วัฒนธรรมแกนกลาง (Leitkultur หรือ core culture) : เป็นแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมันเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยบาสซาม ไทไบ แนวคิดนี้ก็คือชนกลุ่มน้อยสามารถมีเอกลักษณ์ของตนเองได้ แต่อย่างน้อยต้องสนับสนุนแนวคิดที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมที่กลุ่มตนร่วมเป็นส่วนอยู่
  • หม้อหลอมละลาย (Melting Pot) : ในสหรัฐ มุมมองที่ถือปฏิบัติกันได้แก่การเป็นหม้อหลอมละลาย เป็นที่ซึ่งวัฒนธรรมของต่างด้าวที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่หลอมรวมและผสมผสานกันโดยรัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
  • อเนกวัฒนธรรมนิยม (Multiculturalism) : ได้แก่นโยบายภายใต้ทฤษฎีว่าที่คนต่างด้าวที่ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่ อาจสงวนรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องอยู่ร่วมกันวัฒนธรรมอื่นและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสันติ อย่างไรก็ดีทฤษฎีนี้ก็ประสบปัญหามากมายในความเป็นจริง

วิธีการที่รัฐดำเนินการกับวัฒนธรรมของกลุ่มต่างด้าวผู้ย้ายถิ่นมักไม่ตกอยู่ในแนวทางปฏิบัติอันใดอันหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ระดับความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยกับวัฒนธรรมเจ้าถิ่น จำนวนผู้ย้ายถิ่นเข้า ทัศนคติของประชากรที่มีอยู่เดิม ประเภทของนโยบายของรัฐที่ใช้และผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเหล่านี้ ประกอบกันทำให้ยากที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นแบบทั่วไปได้ เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมย่อยอื่น ๆ ภายในสังคม ทัศนคติที่เป็นกระแสรวมของประชากรและการสื่อความระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ด้วยกันล้วนมีอิทธิพลมากในผลลัพธ์ที่ได้ออกมา การศึกษาวัฒนธรรมต่าง ๆ ในสังคมหนึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนซึ่งการการวิจัยที่ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่มากมายหลายหลาก

วัฒนธรรมโดยภูมิภาค

[แก้]

วัฒนธรรมภูมิภาคจำนวนมากได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา

แอฟริกา

[แก้]

แม้จะมีต้นตอที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมแอฟริกา โดยเฉพาะวัฒนธรรมแถบใต้สะฮาราซึ่งได้รับการก่อรูปโดยการตกเป็นอาณานิคมของยุโรป และโดยเฉพาะแอฟริกาเหนือที่ถูกก่อรูปโดยวัฒนธรรมอาหรับและอิสลาม

อเมริกา

[แก้]
ผู้ชายชาวโฮปีคนหนึ่งกำลังทอผ้าด้วยเครื่องทอพื้นเมืองใน

วัฒนธรรมของทวีปอเมริกาได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากชนพื้นเมืองที่อาศัยในผืนทวีปนั้นมานานก่อนที่ชาวยุโรปย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ ผู้มาจากแอฟริกา (โดยเฉพาะสหรัฐที่มีประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา) และจากผู้อพยพชาวยุโรปต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวสเปน ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส ชาวเยอรมัน ชาวไอร์แลนด์ ชาวอิตาลี และชาวฮอลแลนด์

เอเชีย

[แก้]

แม้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศเอเชียจะสูงมากก็ตาม แต่ก็ยังมีอิทธิพลของการเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรมให้เห็นไม่น้อย แม้เกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนามไม่ใช้ภาษาจีนในการพูด แต่ภาษาของประเทศเหล่านี้ก็มีอิทธิพลของจีนทั้งการพูดและการเขียน ดังนั้น ในเอเชียตะวันออก อักษรจีนจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวกลางของอิทธิพล ด้านศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า มีผลกระทบสูงต่อวัฒนธรรมประเพณีของประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก รวมทั้งการมีลัทธิขงจื๊อผสมปนอยู่ในปรัชญาทางสังคมและศีลธรรมของประเทศเหล่านี้

ศาสนาฮินดู และ อิสลาม ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อประชากรในเอเชียใต้มานานนับหลายร้อยปี เช่นเดียวกันที่ศาสนาพุทธแพร่กระจายเป็นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แปซิฟิก

[แก้]

เกือบทุกประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับอิทธิพลอย่างต่อเนื่องจากวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นเดิม แม้จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของวัฒนธรรมยุโรปบ้าง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และเกือบทุกประเทศในหมู่เกาะโปลินีเซียนับถือศาสนาคริสต์ ประเทศอื่น ๆ เช่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ถูกครอบงำโดยผู้อพยพที่เป็นชนผิวขาวและลูกหลานของพวกชนเหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นวัฒนธรรมพื้นถิ่นออสเตรเลียและวัฒนธรรมเมารีในนิวซีแลนด์ก็ยังปรากฏให้เห็นชัดเจน

ยุโรป

[แก้]

วัฒนธรรมยุโรปก็เช่นกันที่ได้ส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางออกไปใกลจากผืนทวีปจากการล่าอาณานิคม ในความหมายอย่างกว้างมักเรียกว่าเป็น "วัฒนธรรมตะวันตก" อิทธิพลดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดจากการแพร่หลายของภาษาอังกฤษ และภาษายุโรปบางภาษาแม้ไม่มากเท่า อิทธิพลทางวัฒนธรรมสำคัญที่มีต่อยุโรปได้แก่วัฒนธรรมกรีกโบราณ โรมันโบราณและศาสนาคริสต์ แม้อิทธิพลทางศาสนาจะจางลงในยุโรปบ้างแล้วก็ตามแต่

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

[แก้]

โดยทั่วไป ประเทศกลุ่มตะวันออกกลางมีวัฒนธรรมสำคัญที่เด่นชัดอยู่ 3 ได้แก่วัฒนธรรมอารบิก วัฒนธรรมเปอร์เซียและวัฒนธรรมตุรกีซึ่งต่างก็มีอิทธิพลต่อกันและกันในระดับต่างมาตลอดช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ภูมิภาคทั้งหมดเป็นมุสลิมแต่ก็มีคริสเตียนและศาสนาของชนกลุ่มน้อยบางศาสนาแทรกอยู่บ้าง

วัฒนธรรมอารบิกได้รับอิทธิพลที่ลึกมากจากวัฒนธรรมเปอร์เซียและตุรกีผ่านทางศาสนาอิสลาม ระบบการเขียน ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณคดีและอื่น ๆ ระยะทางที่ใกล้ของอิหร่านส่งอิทธิพลต่อภูมิภาคที่อยู่ใกล้ เช่นอิรักและตุรกี การสืบย้อนทางภาษาพบได้ในสำเนียงอาหรับในภาษาอิรักและภาษาคูเวตรวมทั้งในภาษาตุรกี การครอบครองตะวันออกกลางที่นานถึง 500 ปีของพวกอ๊อตโตมานมีอิทธิพลที่รุนแรงมากต่อวัฒนธรรมอาหรับ ซึ่งอาจแผ่ไปไกลถึงอัลจีเรียและจะพบอิทธิพลระดับสูงที่อียิปต์ อิรักและลิแวนต์ (Levant) ในแถบตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ระบบความเชื่อ

[แก้]

ศาสนาและระบบความเชื่ออื่น ๆ มักรวมเป็นส่วนที่แยกไม่ได้กับวัฒนธรรม Religion ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาละติน religare มีความหมายว่า "to bind fast" หรือ "การผูกมัดที่แน่นหนา" ศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด[20]

ศาสนามักกำหนดกฎระเบียบปฏิบัติ เช่น "บัญญัติ 10 ประการ" ในศาสนาคริสต์ หรือ "ศีลห้า" ในพระพุทธศาสนา ในบางครั้งก็เกี่ยวพันกับรัฐบาล เช่นในระบอบ "เทวาธิปไตย" (theocracy) รัฐที่ปกครองโดยใช้หลักศาสนา นอกจากนี้ศาสนายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปะ

ประเพณีศูนย์ยุโรป ในบางกรณี ประเพณีศูนย์ยุโรป (Eurocentric) มีผลต่อการแบ่งภูมิภาคเป็นตะวันตกและไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งมีข้อเสียอยู่เช่นกัน วัฒนธรรมตะวันตก แผ่กระจายจากยุโรปไปถึงออสเตรเลีย แคนาดาและสหรัฐ ค่อนข้างเข้มข้น วัฒนธรรมตะวันตกได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกรีกโบราณ โรมโบราณและศาสนาคริสเตียน

วัฒนธรรมตะวันตกมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจเจกมากกว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก วัฒนธรรมมองมนุษย์ พระเจ้าและธรรมชาติหรือจักรวาลแยกส่วนมากกว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตกบ่งชี้ด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรู้หนังสือและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

กลุ่มศาสนาแอบราฮัม (Abrahamic religions)

[แก้]

ลัทธิยูดา นับได้ว่าเป็นศาสนาแรกในกลุ่ม เป็นลัทธิเทวนิยมที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดและยังอยู่ยั่งยืนถึงปัจจุบัน[21] คุณค่าและประวัติศาสตร์ของชาวยิวนับเป็นส่วนหลักสำคัญที่ เป็นรากฐานของกลุ่มศาสนาแอบราฮัมอื่น เช่นคริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม รวมทั้งศาสนาบาไฮ อย่างไรก็ดี แม้จะมีรากฐานร่วมจากแอบราฮัมด้วยกันมาแต่โบราณ แต่แต่ละศาสนาก็มีความแตกต่างกันทางศิลปะที่ชัดเจน (ทั้งทัศนศิลป์และนาฏศิลป์) ซึ่งความแตกต่างนี้เนื่องมากจากอิทธิพลภูมิภาคที่มีอยู่ก่อนโดยมีศาสนาเข้ามาในภายหลังและกลายเป็นศาสนาที่เป็นตัวแสดงลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา

ศาสนาคริสต์กลายเป็นอิทธิพลแปลงโฉมที่สำคัญของยุโรปและโลกใหม่ อย่างน้อยก็เป็นเวลานับได้ในช่วง 500 ถึง 1700 ปี มาแล้ว แนวคิดทางปรัชญาสมัยใหม่ส่วนใหญ่ได้อิทธิพลจากนักปรัชญาคริสเตียน เช่น เซนต์โทมัส อาควีนัส และ อีราสมุส มหาวิหารคริสเตียนได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญเช่นเดียวกับมหาวิหารน็อทร์-ดามในปารีส อาสนวิหารเวลส์ และโบสถ์มหานครในเม็กซิโกซิตี

อิทธิพลอิสลามเป็นอิทธิพลที่ครอบงำภาคเหนือของแอฟริกา ภูมิภาคตะวันออกกลางและตะวันออกกลางเป็นเวลานานเกือบ 1,500 ปี บางครั้งมีการผสมผสานกับศาสนาอื่นบ้าง อิทธิพลอิสลามอาจเห็นได้จากปรัชญาต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น อิบันบาจจาห์ (Ibn Bajjah) อิบันตูเฟล (Ibn Tufail) อิบันคาห์ดุน (Ibn Khaldun) และอะเวอร์โรส (Averroes) นอกจากนี้ยังมี เรื่องร้อยกรองและวรรณคดี เช่น เฮวี อิบันยักดานห์ (Hayy ibn Yaqdhan) เดอะแมดแมนออฟเลย์ลา (The Madman of Layla) เดอะคอนเฟอเรนซ์ออฟเดอะเบิร์ด (The Conference of the Birds) และเดอะมาสวานิ (Masnavi) ในศิลปะและสถาปัตยกรรมก็มีอิทธิพลอิสลามที่สำคัญเช่น สุเหร่าอูเมย์ยาด (Umayyad Mosque) โดมทองแห่งเยรุซาเล็ม (Dome of the Rock) สุเหร่าไฟซาล ฮาไกโซเฟีย (ซึ่งเคยเป็นทั้งโบสถ์และสุเหร่า) พร้อมทั้งสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมแบบอย่างอาหรับ (Arabesque) อื่น ๆ

ศาสนายูดาและศาสนาบาไฮ ปกติเป็นศาสนากลุ่มน้อยอยู่ในชาติต่าง ๆ แต่ก็ยังมีส่วนที่เด่นชัดในวัฒนธรรมรวมและศาสนารวมของชาตินั้น ๆ บุคคลสำคัญที่นับถือศาสนายูดาซึ่งเป็นที่รู้จักได้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเฮนรี คิสซิงเจอร์ นักดนตรี นักแสดง เช่น พอลลา อับดุล แซมมี เดวิส จูเนียร์และบ็อบ ดีแลน สำหรับศาสนาบาไฮที่เด่นคือโบสถ์บาไฮที่สวยงาม นักดนตรีเช่น ดิสซีกิลลิสปี และนักคิดเช่น อาเลน ลีรอย ล็อก เฟรเดริก เมเยอร์ และริชาร์ด เซนต์บาร์บ เบเกอร์ เป็นต้น

มานุษยวิทยาสายหลักมีมุมมองทางวัฒนธรรมว่าประชาชนจะมีความรู้สึกต่อต้านเมื่อถูกบอกว่ามีสัตว์และวิญญาณฝังอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์[22]

ศาสนาตะวันออกและปรัชญา

[แก้]
พระอัคนี, ฮินดู เทพแห่งเพลิง

ปรัชญาและศาสนามักจะกลมกลืนผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแนวคิดตะวันออก ประเพณีศาสนาและปรัชญาตะวันออกหลายกลุ่มมีต้นตอมาจากอินเดียและจีนและแผ่ขยายไปทั่วเอเชียจาก การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (cultural diffusion) และการย้ายถิ่นของประชากร ศาสนาฮินดูเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา นิกายมหายานซึ่งแพร่กระจายขึ้นเหนือและตะวันออกจากอินเดียสู่ธิเบต จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลี อ้อมลงใต้จากจีนสู่เวียดนาม พุทธศาสนานิกายเถรวาทแพร่กระจายจากอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศรีลังกา บางส่วนทางภาคใต้ของจีน กัมพูชา ลาว พม่าและไทย

ปรัชญาอินเดียรวมถึงปรัชญาฮินดู มีองค์ประกอบที่ไม่แสวงหาวัตถุ ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งจากอินเดีย คือ (Carvaka?) สอนให้แสวงหาความสุขจากโลกวัตถุ ทั้งลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าซึ่งมีบ่อเกิดในจีนได้มีอิทธิพลฝังลึกทั้งในศาสนาและแนวคิดทางปรัชญารวมทั้งในหลักการปกครองบ้านเมืองและศิลปะไปทั่วเอเชีย

ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444พ.ศ. 2543) สองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียที่มีความแตกต่างในแนวคิดทางปรัชญาการเมืองได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น คานธีให้ความหมายใหม่กับคำว่า "อหิงสา" ซึ่งเป็นความเชื่อหลักของทั้งศาสนาฮินดู และศาสนาเชน และได้ปรับความหมายใหม่มาเป็นแนวคิด "ความไม่รุนแรง" (nonviolence) และการไม่ต่อต้าน (nonresistance) ซึ่งกว้างไกลออกไปจากวงกรอบล้อมของอินเดีย ในระยะเดียวกัน ปรัชญาคอมมิวนิสต์ของเมาเซตุงได้กลายเป็นระบบความเชื่อนอกศาสนาที่มีอำนาจมาก

ศาสนาพื้นบ้าน

[แก้]

ศาสนาพื้นบ้านที่นับถือโดยชนเผ่าต่าง ๆ มีอยู่ทั่วไปในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา อิทธิพลของศาสนาเหล่านี้มีมากพอควร ซึ่งมีทั้งเผยแพร่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมและในบางกรณีกลายเป็นศาสนาประจำชาติ เช่นศาสนาชินโต เช่นเดียวกับศาสนาหลักต่าง ๆ ศาสนาพื้นบ้านสามารถตอบสนองความต้องการการปกป้องคุ้มครองยามมีภัย ช่วยรักษาความเจ็บป่วย ล้างความอับโชคและช่วยทำพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการเป็นช่องการเกิดและตายของมนุษย์

ความฝันอเมริกัน

[แก้]

"ความฝันอเมริกัน" (The "American Dream") เป็นความเชื่อของชาวอเมริกันจำนวนมาก ว่าด้วยการทำงานหนัก กล้าหาญและมีความมุ่งมั่น โดยไม่คำนึงถึงชั้นสังคม บุคคลสามารถบรรลุสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้เสมอ[23] ความคิดนี้มีรากมาจากความเชื่อที่ว่าสหรัฐคือ "เมืองบนเนินเขา เป็นแสงที่ก่อให้เกิดประเทศ" ซึ่งเป็นคุณค่าที่ยึดถือโดยชาวยุโรปผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ และได้ยึดถือคุณค่านี้สืบมาหลายชั่วคน[24]

แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่นกรณีของ "ความฝันออสเตรเลียอันยิ่งใหญ่" แม้จะสะท้อนไปทาง "การเป็นเจ้าของบ้าน" มากกว่า

การแต่งงาน

[แก้]

โบสถ์คริสเตียนเกือบทั้งหมดมักใช้เป็นที่ประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งปกติส่วนหนึ่งของพิธีมักรวมถึงการปวารณาที่จะสนับสนุนโบสถ์ ในการแต่งงาน ชาวคริสเตียนจะมีความสัมพันธ์คู่ขนานไปกับพระเยซูและโบสถ์ของตน ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีความเชื่อว่าการหย่าร้างผิดศีลธรรม และคู่หย่าร้างไม่อาจแต่งงานใหม่ในโบสถ์ได้ หากไม่ทำพิธีล้างบาปอย่างเป็นทางการก่อน

วัฒนธรรมศึกษา

[แก้]

วัฒนธรรมศึกษา เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา) เป็นส่วนหนึ่งของการนำแนวคิดลัทธิมากซ์มาบรรจุในวิชาสังคมวิทยาอีกครั้งหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็เป็นเสียงให้กับสังคมวิทยาและสาขาวิชาอื่น เช่นวรรณคดีวิจารณ์ ขบวนการนี้มุ่งประเด็นไปเน้นที่การวิเคราะห์กลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคมทุนนิยม ตามประเพณีที่ไม่นับเป็นมานุษยวิทยา วัฒนธรรมศึกษาโดยทั่วไปจะเน้นการศึกษาสินค้าเพื่อการบริโภค (เช่นแฟชัน ศิลปะและวรรณคดี) เนื่องจากความเด่นชัดระหว่าง "วัฒนธรรมสูง" และ "วัฒนธรรมต่ำ" ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 (พ.ศ. 2343-พ.ศ. 2443) ดูเหมือนจะเหมาะเพียงสำหรับการประยุกต์กับสินค้าที่ใช้วิธีการผลิตเป็นจำนวนมากและจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมากที่วัฒนธรรมศึกษาได้วิเคราะห์ไว้ ซึ่งนักวิชาการเอ่ยถึงในชื่อว่า "วัฒนธรรมนิยม"

ปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาบางคนได้เข้ามาร่วมงานด้านวัฒนธรรมศึกษามากขึ้น เกือบทั้งหมดไม่ยอมรับการบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมคู่กับสินค้าบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังต่อต้านความคิดของวัฒนธรรมว่าเป็นการผูกมัด มีผลให้ไม่ยอมรับแนวคิดของกลุ่มวัฒนธรรมไปด้วย พวกเขามองวัฒนธรรมเป็นสายใยที่ซับซ้อนของรูปแบบที่กำลังเชื่อมโยงกับประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ และเชื่อมกับการก่อรูปของสังคมในขนาดที่ต่างกันด้วย ตามมุมมองดังกล่าวกลุ่มใด ๆ ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้เอง

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการโต้เถียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมว่าจะสามารถเปลี่ยนพื้นฐาน "การเรียนรู้ของมนุษย์" ได้หรือไม่ ซึ่งนักวิจัยทั้งหลายก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่

การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม

[แก้]
ภาพพิมพ์ลายแกะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344 – 2443) แสดงภาพชนพื้นเมืองออสเตรเลียต่อต้านการมาถึงของกัปตันเจมส์ คุก เมื่อ พ.ศ. 2313

แนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ไม่ว่าในทางยอมรับหรือต่อต้าน ย่อมขึ้นอยู่กับรากฐานของวัฒนธรรมในสังคมนั้น ตัวอย่างเช่น ความเป็นชายและหญิงที่ต่างมีบทบาทอยู่ในหลายวัฒนธรรม เพศใดเพศหนึ่งอาจต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งกระทบต่ออีกเพศหนึ่ง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2493 -2443) ซึ่งทำให้เกิดแรงผลักดันชักจูงทั้งสองทาง คือการกระตุ้นให้ยอมรับสิ่งใหม่ และการอนุรักษ์ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น

อิทธิพลทั้ง 3 ประการต่อไปนี้สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการต่อต้าน

  1. แรงผลักดันในที่ทำงาน
  2. การติดต่อกันระหว่างกลุ่มสังคม
  3. การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ[25]

การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอาจเกิดมาจากสิ่งแวดล้อม การค้นพบ (และอิทธิพลภายในอื่น ๆ) และการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น ตัวอย่างเช่น ยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุดช่วยนำไปสู่การค้นพบการทำเกษตรกรรม และตัวเกษตรกรรมเองก็เป็นตัวก่อให้เกิดนวัตกรรมมากมายทางเกษตรกรรม ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็ได้นำไปสู่นวัตกรรมอื่น ๆ ทางวัฒนธรรม

การแพร่กระจายนี้ ทำให้เกิดรูปแบบบางอย่างที่เคลื่อนตัวจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ตัวอย่างแฮมเบอร์เกอร์ ที่มีอยู่ทั่วไปในอเมริกาแต่อาจเป็นสิ่งแปลกใหม่เมื่อเริ่มกิจการในประเทศจีน "การแพร่กระจายแบบกระตุ้น" (Stimulus diffusion) หมายถึงองค์ประกอบของวัฒนธรรมหนึ่งที่นำไปสู่การค้นพบในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ทฤษฎีการแพร่นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงแบบจำลองที่ใช้พื้นฐานการวิจัยเมื่อบุคคลหรือวัฒนธรรมยอมรับความคิดใหม่ ๆ วิธีปฏิบัติใหม่ ๆ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

การรับวัฒนธรรมอื่น (Acculturation) มีความหมายต่างกันหลายประการ แต่ในบริบทนี้หมายถึงการเปลี่ยนแทนลักษณะรากฐานจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เช่นที่เกิดกับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกาบางเผ่า รวมทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองจำนวนมากทั่วโลกในระหว่างกระบวนการการครอบครองอาณานิคม กระบวนการอื่นที่สัมพันธ์ในระดับปัจเจกบุคคลรวมถึงการผสมกลมกลืน (การยอมรับเอาวัฒนธรรมอื่นมาเป็นของตนในระดับบุคคล) และการผ่านข้ามทางวัฒนธรรม (transculturation)

การประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม ได้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์แก่กลุ่มชนและแสดงถึงพฤติกรรมของพวกเขา โดยมิได้เป็นสิ่งซึ่งจับต้องได้ มนุษยชาติกำลังอยู่ในระยะการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในอัตราเร่งทั่วทั้งโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของการค้าของโลก การสื่อสารมวลชน และเหนือกว่าสิ่งอื่นใดก็คือการ "ระเบิด" ของประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ ปัจจุบันประชากรโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 40 ปี[26]

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมีความซับซ้อนและมีผลกระทบระยะยาวมาก นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การคงอยู่ของมนุษย์อาจมองได้ว่าเป็น "แง่มุมรวมที่เป็นอเนก" (multifaceted whole) และเพียงด้วยจุดมองนี้เองที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่เป็นจริง[26]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. วัฒนธรรม เก็บถาวร 2007-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ศูนย์เครือข่ายความรู้วัฒนธรรม
  2. Goodall, J. 1986. The Chimpanzees of Gombe: Patterns of Behavior. (อังกฤษ)
  3. ความหมายของวัฒนธรรม ประเพณี เก็บถาวร 2007-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน onlineworldtraveler.com
  4. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
  5. Harper, Douglas (2001). Online Etymology Dictionary. (อังกฤษ)
  6. https://en.wiktionary.org/wiki/%E6%96%87%E5%8C%96
  7. https://en.wiktionary.org/wiki/%E6%96%87%E5%8C%96
  8. Jary, D. and J. Jary. 1991. The HarperCollins Dictionary of Sociology, page 101. (อังกฤษ)
  9. Tylor, E.B. 1974. Primitive culture: researches into the development of mythology, philosophy, religion, art, and custom. (อังกฤษ)
  10. UNESCO. 2002. Universal Declaration on Cultural Diversity. (อังกฤษ)
  11. Kroeber, A. L. and C. Kluckhohn, 1952. Culture: A Critical Review of Concepts and Definitions. (อังกฤษ)
  12. White, L. 1949. The Science of Culture: A study of man and civilization. (อังกฤษ)
  13. Defining "culture" เว็บไซต์ sahistory.org.za (อังกฤษ)
  14. 14.0 14.1 Arnold, Matthew. 1869.Culture and Anarchy. เก็บถาวร 2017-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  15. Bakhtin 1981, p.4 (อังกฤษ)
  16. Cohen, A. 1985. The Symbolic Construction of Community. (อังกฤษ)
  17. Bourdieu, P. 1977. Outline of a Theory of Practice. (อังกฤษ)
  18. สังคมสยามรัฐ ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2550[ลิงก์เสีย] สยามรัฐออนไลน์
  19. ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, เกิดเป็น Value Investor เก็บถาวร 2007-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550
  20. Reese, W.L. 1980. Dictionary of Philosophy and Religion: Eastern and Western Thought, page 488. (อังกฤษ)
  21. อารยธรรมโบราณ[ลิงก์เสีย]
  22. Jonathan Benthall Animal liberation and rights เก็บถาวร 2019-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Anthropology Today Volume 23 Issue 2 Page 1 - April 2007 (อังกฤษ)
  23. Boritt, Gabor S. Lincoln and the Economics of the American Dream, p. 1. (อังกฤษ)
  24. Ronald Reagan. "Final Radio Address to the Nation". เก็บถาวร 2016-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  25. O'Neil, D. 2006."Processes of Change". เก็บถาวร 2016-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  26. 26.0 26.1 O'Neil, D. 2006."Overview". เก็บถาวร 2007-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
— 1957. "Ritual and Social Change: A Javanese Example", American Anthropologist, Vol. 59, No. 1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]