ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
Office of the Council of State
เครื่องหมายราชการ

ที่ตั้งสำนักงาน
ภาพรวมสำนักงาน
ก่อตั้ง9 ธันวาคม พ.ศ. 2476; 91 ปีก่อน (2476-12-09)
สำนักงานก่อนหน้า
  • เคาน์ซิลออฟสเตต (พ.ศ. 2417)
  • รัฐมนตรีสภา (พ.ศ. 2437)
  • กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
  • กรมร่างกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย เลขที่ 1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
บุคลากร434 คน (พ.ศ. 2565)[1]
งบประมาณต่อปี526,244,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารสำนักงาน
  • ปกรณ์ นิลประพันธ์, เลขาธิการ
  • ธนาวัฒน์ สังข์ทอง, รองเลขาธิการ
  • นพดล เภรีฤกษ์, รองเลขาธิการ
  • ณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์, รองเลขาธิการ
  • นุชนาถ เกษมพิบูลย์ไชย, รักษาการรองเลขาธิการ
ต้นสังกัดสำนักงานสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (อังกฤษ: Office of the Council of State) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกฤษฎีกา สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

[แก้]

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ดังนี้

  1. รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
  2. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
  3. ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ
  4. ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านกฎหมายและการร่างกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทำความเข้าใจในด้านกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป
  6. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน
  7. จัดพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับ
  8. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  9. ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายต่างประเทศ และงานวิจัยกฎหมายหรือวิชาอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2545[3] ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมาย การใช้กฎหมายและการพัฒนากฎหมายให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการจัดทำร่างกฎหมาย
  2. ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ
  3. งานประสานการนิติบัญญัติ โดยการตรวจสอบดูแลงานกฎหมายของประเทศและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา
  4. จัดทำคำแปลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินและให้คำปรึกษาหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. วิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและของสังคม แล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม
  6. การพัฒนาหลักกฎหมายปกครองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  7. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วให้บริการค้นคว้าแก่รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐและประชาชน
  8. ดำเนินการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน
  9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

[แก้]

พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร 11 บส.) มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผิดชอบขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง) และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้มีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร 10 บส.) เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ

ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นตำแหน่งที่มีลักษณะพิเศษกว่าตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานอื่น ๆ กล่าวคือ มาตรา 63 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ การร่างกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดิน อันรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และคณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงแต่งตั้งดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ[4]

รายนามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

[แก้]

นักกฎหมายกฤษฎีกา

[แก้]

มาตรา 63/1 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551[5] ได้บัญญัติให้มีตำแหน่ง นักกฎหมายกฤษฎีกา ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานกฎหมายของรัฐ โดยตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกานี้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในทางนิติศาสตร์ การร่างกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านกฎหมายตามความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้นักกฎหมายกฤษฎีกาได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งในอัตราที่คำนวณแล้วไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนของข้าราชการอัยการ ทั้งนี้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง) กำหนด ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา พ.ศ. 2551[6] กำหนดให้นักกฎหมายกฤษฎีกามี 3 ชั้น ได้แก่ นักกฎหมายกฤษฎีกาชั้น 1, 2 และ 3 โดยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกาเมื่อคำนวณรวมกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษอื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินประจำตำแหน่งแล้วจะต้องเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 2 ขั้น 1 และให้ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นตามระดับตำแหน่งและขั้นเงินเดือน แต่ค่าตอบแทนขั้นสูงต้องไม่เกินค่าตอบแทนของข้าราชการอัยการดังต่อไปนี้

  1. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 11 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 8 (อัยการสูงสุด)
  2. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 10 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 7 (รองอัยการสูงสุด)
  3. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 9 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 6 (อัยการพิเศษ)
  4. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 4 (อัยการจังหวัด)
  5. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 3 (อัยการประจำกรม)

อ้างอิง

[แก้]
  1. รายงานประจำปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา[ลิงก์เสีย]
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๔, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-07-22. สืบค้นเมื่อ 2008-04-09.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/298/T_0001.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/007/70.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/013/20.PDF