คุณจะเลือกรูปแบบจิตใจแบบไหน สำหรับการประชุมครั้งต่อไปของคุณ
เวลาและความรู้สึกเป็นสิ่งมีค่าในชีวิต จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราจะใช้ทุกๆ นาทีของชีวิตในการสร้างประโยชน์ให้ตัวเองและคนรอบข้าง การเลือกรูปแบบจิตใจที่ต่างกัน จะทำให้การใช้เวลาในช่วงชีวิตที่เรียกว่า “การประชุม” สร้างผลลัพธ์ที่ต่างอย่างมหัศจรรย์
KEROZEN : breeding ground for ideas by Jean-Charles Debroize
เมื่อไหร่ที่มีคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป ทำงานด้วยกัน จะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า การประชุม (meeting) เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และการประชุมนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน ในหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาของชีวิตมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ
เรามีเวลาวันละ 24 ชั่วโมง หักเวลานอน กินข้าว เดินทาง เหลิอเวลาวันละ 13 ชั่วโมง ทำงาน 8 ขั่วโมง (บางคน10–12 ชั่วโมง) เท่ากับใช้เวลามากกว่าครึ่งนึง ถ้าทดเวลาเสาร์ — อาทิตย์ที่ไม่ได้ทำงาน (เหรอ?) ก็ยังเป็น 45% ของเวลาในชีวิตเราอยู่ดี สมมติ ถ้าตั้งใจจะทำงานไปอีก 30 ปี แล้วเราใช้เวลาประชุม 40% ของเวลาทำงาน นั่นหมายถึงเราจะใช้เวลา 5 ปี ของชีวิตในการประชุม!!! (ใช่แล้ว….มันเท่ากับเวลาที่ใช้เลี้ยงเด็กคนนึง จาก 0 เป็น 5 ขวบเลยทีเดียว…)
เราใช้เวลาของชีวิตมากขนาดนั้นสร้างประโยชน์สูงสุดจากการประชุมได้หรือยัง? แม้ว่าเราจะพยายามเอาเครื่องมือต่างๆ มาใช้ เพื่อช่วยให้การประชุมมี “ประสิทธิภาพ” ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเป้าหมาย การตกลงกระบวนการ การเตรียม Agenda และ การสรุปผลการประชุม (เพื่อเอาไปประขุมครั้งต่อไป…) แต่หลายครั้ง เราพบว่าการประชุมยังคงยืดเยี้อ ไม่ได้ผลลัพธ์ และไม่ได้ทำให้คนที่มารวมกันในห้องนั้นมีความรู้สึกและพลังด้านบวกตลอดระยะเวลาในการประชุม (บางทีพลังเชิงลบยังติดตามไปหลังจากการประชุมอีก)
สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากเครื่องมือเหล่านั้น คือการสร้างและดูแล “ความรู้สึก”ของคนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนั้น
อันที่จริง เรามีประสบการณ์ในการใช้เวลาของชีวิต ไปกับความรู้สึกดีๆ และพลังเชิงบวก ตั้งหลายแบบอยู่แล้ว เช่น ความรู้สึกของเป็นพ่อแม่ตอนสอนลูกทำการบ้าน ความรู้สึกเวลาปลอบเพื่อนรักที่มาร้องไห้ปรับทุกข์ ความรู้สึกตอนรอคำตอบจากคนที่เราขอเค้าเป็นแฟน หรือความรู้สึกตอนเด็กๆที่เรายืนมองคนทอดลูกชิ้นหน้าโรงเรียน แล้วสงสัยว่าทำไมลูกชิ้นแบนๆ พอลงไปทอดแล้วมันพองอย่างงั้นหว่า
สิ่งที่ต่างกันของการสร้างความรู้สึกเชิงบวก กับลบ คือ รูปแบบของ “จิตใจ” ในเวลาของชีวิตช่วงจังหวะนั้น เราสามารถเลือกที่จะใช้รูปแบบจิตใจ ที่จะสร้างความรู้สึกเชิงบวก มาใช้กับเวลาของชีวิตในการประชุม (ที่ยาวนาน) ได้เช่นกัน
จิตใจของพ่อแม่
มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (รายละเอียดอาจ google เพิ่มเติมได้) อยู่ในห้องประชุมด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและหวังดีต่อทุกคนในที่นั้น พอได้ยินประเด็นที่ถูกนำเสนอ ก็ปรับรูปแบบจิตใจ (สวมวิญญาน) พ่อแม่ตอนคุยกับลูก ในแบบที่อยากให้เค้ามีความสุขพ้นจากความเดือดร้อน ยินดีกับเค้าเมื่อเค้าได้ดี แล้วค่อยให้ความเห็น เรื่องไหนเรารู้ดีกว่าเค้า (?) ก็สอนด้วยใจเมตตา เรื่องไหนเราไม่รู้ดีเท่าลูก ก็ให้คำแนะนำที่เค้าเอาไปพัฒนาต่อเอง เรื่องไหนต้องห้าม ต้องหยุด (เช่น ลูกจะเอามือไปแหย่ปลั๊กไฟ ก็ต้องห้ามกัน) ก็ชัดเจน เด็ดขาด แต่แสดงออกด้วยความรักและหวังดี
จิตใจของเด็ก 3 ขวบ
เป็น Mode ของความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ ในเรื่องหรือประเด็นที่พูดคุย ถามคำถามเพื่อทำความเข้าใจ สร้างความชัดเจนให้กับตัวเอง โดยไม่แปะป้าย หรือตัดสินบุคคลที่พูด (เราสงสัยว่าทำไมลูกชิ้นทอดถึงพองได้ แต่เราไม่สนใจที่จะตัดสินคนทอดลูกชิ้นว่าเค้าเป็นใคร ฝึกทอดลูกชิ้นมาจากไหน) หรือด่วนสรุปด้วยความรู้ที่เราเคยมี (ทอดลูกชิ้นก็ไม่เคย ผลิตลูกชิ้นก็ไม่เคย เราเลยไม่ได้สรุปอะไร สงสัย มุ่งหน้าตามหาคำตอบลูกเดียว) เป็นจิตใจที่มีน้ำไม่เต็มแก้ว แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อให้ได้คำว่า อ๋อ..มันเป็นอย่างงี้นี่เอง เข้าใจถ่องแท้แล้วค่อยเดิน step ต่อไป
จิตใจของคนเป็นแฟนกัน
มีความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ มีความอดทน หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน ถ้าแฟนเรามาสาย เราก็เข้าใจว่า เค้าคงเลิกงานเลท (หรือติดประชุม!) หรือรถติด ที่สำคัญคือพร้อมให้โอกาส ด้วยความเชื่อใจและไว้ใจกัน ไม่กลัวที่จะพูดความจริง เพราะรู้ว่าคนฟังจะช่วยคิด ช่วยหาทางออกเพื่อผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน (ลองสวมวิญญานนี้ตอนน้องๆ present project progress ดู)
ยังมีรูปแบบจิตใจอีกหลายแบบ ที่เราเลือกใช้เพื่อให้เกิดความรู้สึกและพลังเชิงบวกได้ เคล็ดลับมีอยู่นิดเดียว คือเราต้องมีสติ ดูใจเราในขณะนั้นให้ทัน ว่าเราอยู่ใน Mode ไหน แล้วปรับจิตใจให้เป็น (สวมวิญญาน) เชิงบวก “ก่อน”จะพูดหรือแสดงกริยาใดๆ หรือถ้าไม่ทัน อย่างน้อย ก็เรียกสติสวมวิญญานเชิงบวกให้ได้ก่อนสิ้นสุดการประชุม ถ้าทำได้อย่างงี้ เราก็จะสามารถ Top Up การประชุมที่มี “ประสิทธิภาพ” ด้วยการสร้าง “ความรู้สึกดีๆ” ในแบบที่หลังจบการประชุม ทุกคนเดินจากออกจากห้องแล้วรู้สึกว่า เอ้อ ดีแฮะ เป็นการใช้เวลาของชีวิตเราอย่างมีค่าจริงๆ